CPAC เปิดตัวนวัตกรรมรถโม่พลังงานไฟฟ้าคันแรกของไทย
2 เมษายน 2564, กรุงเทพฯ – ก้าวนำอีกขั้นกับความสำเร็จของ CPAC ที่มุ่งมั่นยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมการก่อสร้างของประเทศ สู่ Green Construction ตลอดทั้ง Supply Chain เติบโตควบคู่กับการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน โดยนำนวัตกรรมรถโม่พลังงานไฟฟ้า (EV Mixer Truck) มาใช้ในการขนส่งคอนกรีตด้วยพลังงานสะอาด ลดมลพิษและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยรถโม่พลังงานไฟฟ้าเมื่อเทียบกับรถโม่ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันดีเซลแล้ว สามารถลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 และPM 10 ได้ถึง 45 กรัม ต่อการขนส่ง 1 เที่ยว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) กลุ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ (CO2) ได้ถึง 26.5 ตัน/ปี/คัน หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ได้เพิ่มขึ้น 2,800 ต้น/ปี/คัน
นายชนะ ภูมี Vice President – Cement and Construction Solution Business และกรรมการบริหาร CPAC ในธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า จากความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรักษาและดูแลสิ่งแวดล้อมในการลดผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 และปัญหาโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas, GHG) ด้วยแนวคิดการขนส่งสีเขียว (Green Fleet) บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) จึงนำรถโม่พลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการจัดส่งคอนกรีต โดยเริ่มใช้ที่โครงการOne Bangkok ซึ่งเป็นโครงการเมกะโปรเจคใจกลางเมืองกรุงเทพ เป็นที่แรก และจะขยายผลไปตามหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต เป็นลำดับต่อไป นอกจากการขนส่งที่มีความตั้งใจช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เราคิดค้นพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Product) มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ คอนกรีตรักษ์โลก ที่มีการนำเถ้าลอย (PFA) มาใช้ทดแทนปูนซีเมนต์ รวมถึงการนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ที่มีส่วนช่วยในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มาใช้เป็นส่วนผสมในคอนกรีต และในอนาคต เรามีแผนที่จะพัฒนาโรงงานสีเขียว (Green Batching Plant) โดยจะนำพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มาใช้โรงงานคอนกรีตผสมเสร็จอีกด้วย
จากความตั้งใจและความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทุกบริษัทภายใต้กลุ่ม Cement and Construction Solution Business ได้ยึดแนวทางดังกล่าวมาใช้ในการดำเนินธุรกิจตลอดทั้ง Value Chain ตั้งแต่โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ ที่มีการนำลมร้อนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมาผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงานปูนซีเมนต์ (Waste Heat Power Generator) การใช้รถโฟล์คลิฟท์ไฟฟ้าสำหรับขนส่งภายในโรงงาน และการพัฒนาปูนซีเมนต์ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มาใช้ทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบ Green Construction สร้างสรรค์นวัตกรรมการก่อสร้างที่ยั่งยืนตามแนวทาง ESG ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environment) คุณภาพชีวิตของคนในสังคม (Social) และมีบรรษัทภิบาล (Governance)